โรงพยาบาลนครพนมรวมใจลดโลกร้อน๑

ความจริงโครงการลดโลกร้อน ของกรมอนามัย โดยสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข เขาทำมาหลายปีแล้ว อาจจะเข้าไปศึกษาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์ของสำนักโดยตรง หรือเว็บของโครงการเลยก็ได้ ซึ่งก็จะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมายทีเดียว   

แต่ที่อยากจะนำมาเสนอในตอนนี้ก็คือว่า โรงพยาบาลนครพนม ได้มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการนี้เมื่อช่วงต้นปี 2555 นี้เอง เนื่องจากท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม นพ.สมคิด สุริยเลิศ ได้มอบหมายให้กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม ดำเนินงานโครงการนี้ให้เป็นรูปธรรมให้ได้ โดยได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนา “รวมพลัง ฝ่าวิกฤตโลกร้อน ด้วยการลดคาร์บอนฟุตพริ้น” ในวันที่ ๒๖-๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร และได้นำนโยบายดังกล่าวมาดำเนินงานอย่างจริงจังในปี 2555 นี้
เบื้องต้น จึงอยากจะฝากข้อสรุปจากการประชุมสัมนาครั้งนี้ ให้ผู้ที่สนใจได้อ่านและอาจจะนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาโรงพยาบาลลดโลกร้อน ในรพ.ของท่านต่อไปครับ
รายงานสรุปสาระสำคัญ
การประชุมสัมมนา “รวมพลัง ฝ่าวิกฤตโลกร้อน ด้วยการลดคาร์บอนฟุตพริ้น”
วันที่ ๒๖-๒๗ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร


หัวข้อการประชุมสัมมนา
๑.“สาธารณสุขรวมพลัง ลดโลกร้อนด้วยคาร์บอนฟุตพริ้น” ดำเนินการอภิปรายโดย นางศิริบูรณ์  ณัฐพันธ์
๒.“ลงแรง ลงมือ ลดคาร์บอนฟุตพริ้น ช่วยโลก ช่วยเรา” ดำเนินการอภิปรายโดย นายสุคนธ์  เจียสกุล
๓.“โยงใย เครือข่าย ร่วมใจ ลดโลกร้อน” ดำเนินการอภิปรายโดย นายพิษณุ  แสนประเสริฐ
๔.“โลกร้อนกับมหาอุทกภัย สิ่งที่คนไทยเผชิญ” ดำเนินการอภิปรายโดย นายสง่า  ดามาพงษ์

สาระสำคัญการประชุมสัมมนา
๑. Carbon Footprint คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 รวมทั้งก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ในวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ บริการ และตลอดจนกระบวนการทำงานขององค์กร ซึ่งแสดงผลในเชิงปริมาณ เทียบเท่าศักยภาพการก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก มีค่าเป็น kg CO2 equivalent หรือ tons CO2 equivalent ดังนั้น Carbon Footprint จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม ในสถานบริการ หน่วยงาน โรงงาน สถานประกอบการ และอาคารบ้านเรือน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแผนสำหรับการดำเนินงานลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงาน
๒. กรมอนามัย ได้จัดทำโครงการสาธารณสุขรวมใจรณรงค์ลดโลกร้อน ด้วยการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้นแบบและมีส่วนร่วมในการลดสาเหตุของปัญหาที่เกิดจากการบริการในสถานบริการ ด้วยหลักการ Green & Clean
Green หมายถึง กิจกรรมในการดำเนินงาน ประกอบด้วย
G – Garbage คือ การจัดการมูลฝอยและการใช้ประโยชน์จากสิ่งปฏิกูล
R – Rest room คือ การจัดการส้วมสาธารณะให้ได้ส้วมสาธารณะไทย
E – Energy คือ การลดใช้พลังงาน และใช้พลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพหรือชีวมวล
E – Environment คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดโลกร้อน และเอื้อต่อสุขภาพ
N – Nutrition คือ รณรงค์การบริโภคอาหารปลอดสารพิษ การใช้ผักพื้นบ้านและอาหารพื้นเมือง
Clean หมายถึง กลยุทธ์ในการดำเนินงานประกอบด้วย
C – Communication คือ การสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจ
L – Leader คือ การเป็นผู้นำเพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินการ
E – Effectiveness คือ การบังเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ
A – Activity คือ กิจกรรมสร้างจิตสำนึกอย่างมีส่วนร่วม
N – Networking คือ การร่วมมือกับภาคีเครือข่าย

แนวทางการนำความรู้จากการประชุมสัมมนาไปใช้ในการดำเนินงาน
๑.เผยแพร่องค์ความรู้สู่องค์กร โดยการจัดเวทีวิชาการ ในเนื้อหา :-
·ความสัมพันธ์ของสภาวะโลกร้อนกับคาร์บอนฟุตพริ้น
·บทบาทของโรงพยาบาลกับการลดคาร์บอนฟุตพริ้น
๒.โรงพยาบาลนครพนม ควรดำเนินงานรณรงค์ลดโลกร้อน ด้วยการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักการ Green & Clean ดังนี้
·นำเสนอองค์ความรู้ เรื่อง หลักการ Green & Clean และคาร์บอนฟุตพริ้น ในเวทีการประชุมคณะกรรมการ ENV. รพ.นครพนม และหาแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน กับคณะกรรมการ IC, คณะกรรมการอนุรักษ์พลังงาน, ฝ่ายบริหารงานทั่วไป, กลุ่มการพยาบาล, ฝ่ายโภชนาการ และกลุ่มงานอาชีวเวชกรรม
·จัดทำแผนการดำเนินงานสถานบริการสาธารณสุขสีเขียวร่วมลดโลกร้อน (Green & Clean Hospital) และสมัครเข้าร่วมโครงการ ที่ http://envh.anamai.moph.go.th/green/
·ประเมิน Carbon Footprint เบื้องต้น โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปที่ http://carbonfootprint.anamai.moph.go.th/
·ดำเนินกิจกรรม ตามหลักการ Green & Clean
·ประสานงานกรมอนามัย เพื่อขอการรับรองเป็นโรงพยาบาล Green & Clean Hospital

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลนครพนม

สัปดาห์ความปลอดภัยจากการทำงาน โรงพยาบาลนครพนม

walk through survey 2556