18 สิงหาคม 2565 ‘สธ.-องค์การเภสัชฯ’ ลงพื้นที่นครพนมติดตามเยี่ยมการดำเนินงานโครงการวิจัย HXP-GPOVac ระยะที่ ๒

‘สธ.-องค์การเภสัชฯ’ ลงพื้นที่นครพนมติดตามเยี่ยมการดำเนินงานโครงการวิจัย HXP-GPOVac ระยะที่ ๒

       วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมร่มฉัตร ชั้น ๒ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม คณะผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ดร.นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค นายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะฯ พร้อมนายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ ๘ นายแพทย์จรัญ จันทมัตตุการ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 8 และนายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมประชุมหารือและติดตามผลการดำเนินงานโครงการวิจัย HXP-GPOVac ระยะที่ ๒ แบบสุ่มและแบบมีกลุ่มควบคุมปกปิดสองทาง เพื่อประเมินความปลอดภัยและความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนเอชเอ็กซ์พี จีพีโอแวค (HXP-GPOVac) ขนาด ๑๐ ไมโครกรัมในอาสาสมัครสุขภาพดี ที่ได้ดำเนินการร่วมกับคณะทำงานของจังหวัดนครพนม เพื่อติดตามความคืบหน้าในการวิจัยวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัสโควิดให้กับประชาชน โดยมีนายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม คณะผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โรงพยาบาลนครพนม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน

        สืบเนื่องจากที่องค์การเภสัชกรรมได้มีการพัฒนาและผลิตวัคซีนทดลอง HXP-GPOVac ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตายลูกผสม ขนาด ๑๐ ไมโครกรัมฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ โดยมีการอ้างอิงหรือเปรียบเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์ขึ้นมา และได้มีการทดลองกับอาสาสมัครในพื้นที่จังหวัดนครพนมที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนใด ๆ ซึ่งจากการศึกษาทางคลินิกเพื่อประเมินความปลอดภัยและการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในอาสาสมัครผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ในระยะที่ ๑/๒ โดยศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าวัคซีนมีข้อมูลความปลอดภัยและผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่อยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ ดังนั้นจึงมีการศึกษาต่อในระยะที่ ๒ ในอาสาสมัครผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ ๑๘-๓๕ ปี จำนวน ๓๐๐ คน และผู้ที่มีอายุ ๖๐-๗๕ ปี อีกร้อยละ ๒๐ ซึ่งในระยะนี้จะเป็นการศึกษาแบบสุ่มและแบบมีกลุ่มควบคุมปกปิดสองทาง โดยอาสาสมัครจะถูกสุ่มให้รับวัคซีน HXP-GPOVac หรือ Comirnaty ในอัตราส่วน ๓ : ๑ เข็มแรกห่างจากเข็มที่ ๒ เป็นเวลา ๒๘ วัน เพื่อดูข้อมูลความปลอดภัยและวิเคราะห์เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยอาสาสมัครทุกคนจะได้รับการติดตามอาการเป็นระยะเวลา ๗ เดือนหลังได้รับวัคซีนเข็มแรก และถ้าหากมีอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างการศึกษาวิจัยจะได้รับการประเมินและดูแลรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ โดยแพทย์ขององค์การวิจัยอย่างเหมาะสม และองค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลรักษาให้เป็นไปตามแนวทางการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข และมีการรับประกันสุขภาพอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการวิจัย ที่ครอบคลุมทั้งการรักษาพยาบาลเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บและการประกันภัยอื่น ๆ
















โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลนครพนม

สัปดาห์ความปลอดภัยจากการทำงาน โรงพยาบาลนครพนม